วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สิงคโปร์คิดค้นแบตเตอรี่ชาร์จไฟได้ 70% ใน 2 นาที มีอายุการใช้งาน 20 ปี

สิงคโปร์คิดค้นแบตเตอรี่ชาร์จไฟได้ 70% ใน 2 นาที มีอายุการใช้งาน 20 ปี

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก phonearena.com


           มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์คิดค้นเซลล์แบตเตอรี่ชาร์จไฟได้ 70% ใน 2 นาที มีอายุการใช้งานยาวนาน 20 ปี

           เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 เว็บไซต์ phonearena.com ได้เปิดเผยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่คิดค้นโดยมหาวิทยาลัย Nanyang Technology ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเซลล์แบตเตอรี่ดังกล่าวสามารถชาร์จไฟได้ถึง 70% ภายในเวลาเพียง 2 นาทีเท่านั้น อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว ด้วยการใช้วิธีเร่งปฏิกิริยาทางเคมีภายในเซลล์ของแบตเตอรี่

          เซลล์แบตเตอรี่ดังกล่าวใช้ไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นขั้วแอโนด แทนที่จะใช้กราไฟต์เหมือนกับแบตเตอรี่ทั่วไปที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยสามารถชาร์จได้ถึง 10,000 ครั้ง จากปกติที่สามารถชาร์จได้ 500 ครั้ง นอกจากนี้ไทเทเนียมไดออกไซด์ที่ใช้นั้นยังมีราคาถูกและผลิตได้ง่ายกว่า เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนั้นสามารถหาได้ทั่วไปในดิน และถูกใช้ในเป็นสารปรุงแต่งอาหารหรือใช้เป็นตัวดูดซึมลำแสง UV ในสารกันแดด โดยใช้วิธีแปลงไทเทเนียมไดออกไซด์จากรูปทรงกลมให้เป็นท่อที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ถึงพันเท่า ทำให้ปฏิกิริยาทางเคมีทำงานได้เร็วขึ้น

          ทั้งนี้คาดว่าเซลล์แบตเตอรี่ดังกล่าวน่าจะสามารถผลิตออกมาสู่ตลาดได้จริงในปี 2016 ซึ่งคาดว่าตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนน่าจะมีมูลค่าถึง 23.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายในช่วง 2 ปีนี้ ซึ่งเซลล์แบตเตอรี่ชนิดใหม่นี้น่าจะถูกนำมาใช้กับสมาร์ทโฟนและช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้ยาวนานนับสิบปีโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ แถมยังสามารถชาร์จได้เต็มภายในเวลาอันสั้นอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

กลุ่มฟิสเช่อร์ออดิโอ เปิดตัว 3 แบรนด์ kennerton, Telefunken และ Fischer ตอบโจทย์คนรักเสียงเพลง ตั้งแตไฮเอ็น จนถึงตลาดแมส

IMG_0070
Audion1

ฟิสเช่อร์ ออดิโอ  (Fischer Audio) ผู้ผลิตและจำหน่ายหูฟังที่กำลังเป็นที่นิยมทั้งในรัสเซียและยุโรป จับมือ บริษัท เจนเนอเรชั่น เอส จำกัด ตัวแทนจำหน่ายหูฟังระดับพรี่เมียม เปิดตลาด 3 แบรนด์หลักในประเทศไทย โดยวางตำแหน่งทางการตลาดครอบคลุม ตลาดไฮเอ็น ตลาดระดับกลาง และตลาดแมสด้วยคุณภาพเสียงเกินราคา
นายสรศักดิ์ วงศ์ชินศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจนเนอเรชั่น เอส จำกัด กล่าวว่า “หูฟัง ฟิสเช่อร์(Fischer) เป็นแบรนด์ใหม่ในตลาดที่น่าจับตามอง เพราะกลุ่มฟิสเช่อร์ออดิโอ ได้นำ แบรนด์ Kennerton  ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับไฮเอ็น มาพร้อมกับ Telefunken  ที่เคยมีชื่อเสียงระดับตำนานกลับมาวางตลาดใหม่ในราคาระดับกลาง  และ Fischer แบรนด์ที่วางตลาดแมส ด้วยคุณภาพเกินราคา”

มิสเตอร์ วาเลนทิน คาซานชิ ประธานและผู้ก่อตั้ง ฟิสเช่อร์ ออดิโอ  (Fischer Audio) กล่าวว่า “Fischerเกิดจากแรงบันดาลใจ ในฐานะที่เป็นวิศวกร ทำงานด้านการผลิตเครื่องเสียงกว่า 25 ปี ผมมุ่งมั่นในการสร้างFischer Audio ให้เป็นหูฟังที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ ใช้วัสดุที่ดี คุณภาพเสียงสมบูรณ์แบบให้กับลูกค้า ด้วยราคาที่คุ้มค่า  ด้วยแนวคิดนี้ เราได้ความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างรวดเร็วในรัสเซีย และยุโรป และผมรู้สึกยินดีมากได้ร่วมงานกัน บริษัท เจนเนอเรชั่น เอส ตัวแทนจำหน่ายที่มีประสบการณ์ ในประเทศไทย ที่จะแนะนำ แบรนด์ Kennerton แบรนด์ Telefunken และ Fischer ให้ลูกค้าคนไทยได้รู้จัก”
มิสเตอร์ อิริค ฉั่ว กรรมการบริหาร ฟิสเช่อร์ เอเชีย กล่าว่า “ตลาดหูฟังในเอเชีย เติบโตอย่างรวดเร็ว และคนเอเชีย เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งทำให้กลุ่ม Fischer Audio ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วในสิงคโปร์ ซึ่งผมคาดว่าตลาดหูฟังของประเทศไทยจะต้อนรับ ทั้งสามแบรนด์ของเราเป็นอย่างดี และช่วงเปิดตัวนี้ จะขอแนะนำ หูฟังที่กำลังมาแรงในต่างประเทศ คือ หูฟัง Fischer รุ่น Consonance v.2  หูฟัง Telefunken รุ่น Audion และ หูฟัง Kennerton รุ่น Algiz ”
Kennerton เป็นแบรนด์หรูของ ฟิสเชอร์ออดิโอ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้หูฟังคุณภาพเสียงระดับไฮเอนด์ จากการที่ได้ติดตามวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมเครื่องเสียงมาเป็นเวลานาน พบว่าหูฟังคุณภาพเสียงดี ดีไซน์ทันสมัยที่เป็นสีสันในอุตสาหกรรมลดลงไปมาก และแบรนด์ที่มีชื่อเสียงหันมาผลิตหูฟังคุณภาพลดลงกว่าเดิม ฟิสเชอร์จึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดนี้  ซึ่งรุ่นที่จะแนะนำ คือ หูฟัง Kennerton รุ่น Algiz ไดร์เวอร์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง พร้อมไดนามิกขนาด 10mm ให้เสียงคมชัด แม่นยำกว่าเมื่อเทียบกับโซลูชันอื่น ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไดร์เวอร์ส่วนใหญ่สามารถเล่นได้แค่จาก 10kHz ถึง 10kHz เพียงอย่างเดียว แต่ไดร์เวอร์ของ Algiz สามารถเล่นจาก 20Hz ถึง 20kHz ได้อย่างง่ายดายและครอบคลุมทุกความถี่ที่หูของมนุษย์สามารถรับได้ สายออดิโอไฟล์เกรดพรีเมี่ยม สามารถถอดแยกออกจากตัวหูฟังได้อีกด้วย การควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรล เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้กับมาร์ทโฟนทั่วไป และยังมีสายถึง 2 แบบให้เลือกใช้ตามความต้องการ
หูฟัง Fischer รุ่น Consonance v.2 ราคา 3,890 บาท  หูฟัง Telefunken รุ่น Audion ราคา 15,900 บาท และ หูฟัง Kennerton รุ่น Algiz ราคา 13,900 บาท นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆให้ได้เลือกอีกมากมาย หูฟังทั้ง 3 แบรนด์ วางขายที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านมั่นคง  Loft และ Be Trend  สินค้ารับประกัน 1 ปีขึ้นไป ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โทร 02-2740665  หรือที่  www.facebook.com/MultigadgetStore

พบผู้ป่วยเสพติด Google Glass คนแรกของโลก

 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เว็บไซต์สกายนิวส์ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบผู้ป่วยโรคเสพติด Google Galss เป็นเคสแรกของโลก หลังจากเขามีพฤติกรรมใช้ Google Glass ตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนหลับและตอนอาบน้ำ

                ผู้ป่วยเสพติด Google Glass รายนี้ เป็นทหารช่างในหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐฯ วัย 31 ปี นักวิทยาศาสตร์พบว่าเขามีพฤติกรรมเสพติดแว่นตา Google Glass เป็นอย่างมาก โดยในแต่ละวันเขาจะสวมแว่นตานี้ถึง 18 ชั่วโมง ยกเว้นเวลานอนและเวลาอาบน้ำ และจะเกิดอาการหงุดหงิดไม่พอใจเมื่อไม่สามารถใช้แว่นตา Google Glass ได้ 

                จากพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เขาต้องเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจัง และเขาเองก็ยังไม่วายถามหาแว่นตา Google Glass อยู่ตลอด พร้อมกับยอมรับว่าถ้าไม่ได้ใช้ จะรู้สึกโมโหอย่างรุนแรง ซึ่งแม้ว่าอาการของเขาจะไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ แต่การแสดงอารมณ์ออกมาเมื่อไม่ได้ใช้แว่น และการวิเคราะห์อากัปกิริยา ก็พอจะแสดงให้เห็นว่าเขาเสพติดแว่นนี้อย่างแท้จริง

                อย่างไรก็ดี หลังจากเข้ารับการบำบัดเป็นเวลา 35 วัน พบว่าชายรายนี้มีอาการหงุดหงิดน้อยลงเมื่อไม่ได้ใส่ Google Glass ขณะที่ทาง Google ผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใด ๆ ต่อกรณีนี้

                ทั้งนี้อาการเสพติดดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกันกับพฤติกรรมเสพติดอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นกันมากทั่วโลก


วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สิ่งประดิษฐ์ (iC-HiEd 2014)

?สิ่งประดิษฐ์‘iC-HiEd 2014’ - ฉลาดสุดๆ?
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัด “โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และประกวดสิ่งประดิษฐ์ (iC-HiEd 2014)” ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ชิงรางวัลทุนการศึกษารวม 3 แสนบาท ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้
โดยการประกวดมีผลงานที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวนรวม 25 ผลงาน เป็น พลังงานทางเลือก 8 ผลงาน เครื่องมือแพทย์ จำนวน 5 ผลงาน และเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 12 ผลงาน ซึ่งผลตัดสินของคณะกรรมการ ปรากฏว่า 3 สิ่งประดิษฐ์สุดยอดที่มีไอเดียน่าทึ่ง โดยฝีมือคนรุ่นใหม่ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทพลังงานทางเลือก คือ รถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง รางวัลชนะเลิศประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร คือ หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวราคาประหยัดเพื่อกำจัดศัตรูพืช และรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ คือ ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า
น.ส.วรรณวิภา ราศี หัวหน้าทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน รถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง กล่าวว่า ผลงานรถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง มาจากแนวคิดรถที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันฟอสซิล และไร้มลพิษ แถมได้ออกกำลังกายเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เหมาะสำหรับใช้ภายในหน่วยงานองค์กร เช่น รถทัศนาจรภายในมหาวิทยาลัย
“ใช้เวลาออกแบบและผลิตประมาณ 6 เดือน ตัวถังเป็นรถบัสขนาดมาตรฐานตามกฎหมายการขนส่งที่เคลื่อนที่โดยใช้คนปั่น 20 ที่นั่ง ซึ่งมีแป้นถีบ จานและโซ่แบบจักรยาน รถมีเพลา 6 แถว และส่งกำลังผ่านโซ่ ขับเพลารวมไปที่เกียร์ ขับเคลื่อนล้อหลัง ในการขับเคลื่อนจะมีผู้คุมรถซึ่งทำหน้าที่เหยียบปล่อยคลัตช์เข้าเกียร์กระปุก 1-2-3 ตามระดับความเร็ว และเกียร์ถอยหลัง รวมทั้งการเหยียบเบรกเพื่อชะลอและหยุดรถ ส่วนเกียร์เป็นแบบทดแรงช่วยให้คนปั่นไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีไดนาโมสำหรับเก็บแรงปั่นเป็นไฟฟ้าสำหรับใช้กับไฟหน้า ไฟเลี้ยวและไฟภายในรถ น้ำหนักรถ 2 ตัน มีความเร็วสูงสุด 20 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง นับเป็นพาหนะที่ใช้พลังงานทางเลือกและเป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่รางวัลชนะเลิศประเภทเครื่อง จักรกลการเกษตร นายนวภัณฑ์ ศุภวัตน์ หัวหน้าทีมจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวสำหรับกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการสร้าง หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าว มาจากการได้ศึกษาข้อมูลปัญหาของเกษตรกรสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และไทยเราเป็นผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสวนมะพร้าว ทางภาคใต้มักจะประสบปัญหาเรื่องแมลงหนอนหัวดำระบาด กัดกินใบและยอดมะพร้าวทำให้มะพร้าวยืนต้นตายจำนวนมากในพื้นที่ระบาด เกษตรกรบางรายถึงขั้นทิ้งสวนมะพร้าวเพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับปัญหานี้ดี
จึงได้ออกแบบหุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวทำด้วยวัสดุอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเบาโดยมีแท็งก์พร้อมหัวฉีดด้านหลังบรรจุยาหรือสารกำจัดศัตรูพืชได้ 2 ลิตร ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ เคลื่อนที่ขึ้น-ลงด้วยล้อ 3 ล้อที่ทำจากวัสดุซูพิลีน ผู้ใช้ควบคุมการทำงานหุ่นยนต์ด้วยรีโมตคอนโทรล เมื่อหุ่นยนต์ไต่ขึ้นถึงยอดแล้วจะฉีดพ่นใต้ใบมะพร้าว ซึ่งแต่ก่อนเกษตรกรใช้รถเครนบรรทุกถังฉีดแล้วต่อท่อหัวฉีดแรงดันสูง ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเปลืองปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 10 ลิตรต่อต้น ส่วนคนที่ฉีดยาจะโดนละอองของสารเคมีไปด้วย หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวจึงสามารถช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายยาปราบศัตรูพืช โดยลดปริมาณการใช้ยากำจัดศัตรูพืชจาก 10-20 ลิตรต่อต้น ให้เหลือเพียง 2 ลิตรต่อต้น รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกร การประดิษฐ์เน้นราคาประหยัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย
สุดท้ายเป็นผลงาน ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า โดย นายพงษ์สิทธ์ มิสา หัวหน้าทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้ป่วยที่ต้องนั่งวีลแชร์และพิการหลายล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องด้วยไทยจะก้าวเป็นสังคมคนสูงวัยมากขึ้น แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้พิการที่นั่งวีลแชร์อยู่แล้วสามารถเพิ่มการติดตั้งชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้าเข้ากับส่วนหน้าของวีลแชร์ สำหรับการสัญจรภายในและนอกอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“จุดเด่นของชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า คือ มีน้ำหนักเพียง 20 กิโลกรัม ด้วยการออกแบบข้อต่อแบบพิเศษ ทำให้ผู้พิการสามารถถอดประกอบได้ด้วยตนเองและสะดวกง่ายดายเพียงยกแล้วหมุนบิดลงล็อก ส่วนปุ่มบังคับการเคลื่อนที่จะอยู่บนมือจับด้านขวา ล้อหน้าเมื่อวิ่งไปกระทบพื้นลูกคลื่นหรือทางชันบนฟุตปาธจะยก 2 ล้อหน้าของวีลแชร์ขึ้น ลดแรงสะเทือนลง ทำให้วิ่งได้เรียบด้วยล้อหน้า และ 2 ล้อหลังของวีลแชร์ ส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมสามารถทำงานได้ 4-5 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟ หนึ่งครั้ง ไม่มีมลพิษ สิ่งประดิษฐ์นี้จึงช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจและสังคม สามารถช่วยเหลือตัวเอง และทำภารกิจในชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เป็นอุปกรณ์ในราคาประหยัดและช่วยลดการนำเข้า” นายพงษ์สิทธ์ กล่าว
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจ การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน ช่วยลดการนำเข้าและการพึ่งพาจากต่างประเทศ และสร้างเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านพลังงานทางเลือก เครื่อง จักรกลการเกษตรและเครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมสร้างพันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ของนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยด้วย
นับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกผลงานสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและพลังสร้างสรรค์พร้อมไอเดียของคนไทยที่สามารถตอบโจทย์และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้จริง.

ฟรอสต์ เผยแม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวแต่ตลาดสมาร์ทโฟนไทยยังโตได้ไม่ต่ำกว่า 30%


?ฟรอสต์ชี้ปีนี้สมาร์ทโฟนไทย โตไม่ต่ำกว่า13ล้านเครื่อง?

ฟรอสต์ เผยแม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวแต่ตลาดสมาร์ทโฟนไทยยังโตได้ไม่ต่ำกว่า 30% หรือประมาณ 13 ล้านเครื่อง ชี้อานิสงส์จากคนเล่นโซเชียลมากขึ้น และสมาร์ทโฟนถูกลง
นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์ อุตสาหกรรมไอซีทีอาวุโส จากบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนไทยว่า ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่ายอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในประเทศไทยจะเติบโตมากกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 30% หรือประมาณ 13 ล้านเครื่อง โดยได้อานิสงส์จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ สภาพตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นประหยัดที่มีตัวเลือกมากขึ้น ความต้องการใช้งานโซเชียล มีเดียที่เพิ่มขึ้น และความนิยมของการทำธุรกรรมพาณิชย์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโมบายคอมเมิร์ซที่มีมากขึ้น
ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตขึ้นมาก บริษัทผู้ผลิตสมาร์ท โฟนทยอยนำสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ด้วยราคาที่ลดต่ำลงส่งผลให้คนไทยหันมาเลือกซื้อสมาร์ทโฟนมากขึ้นแทนที่โทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนแบบดั้งเดิม ซึ่งฟรอสต์ ประเมินว่า ถึงสิ้นปีนี้ ยอดขายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนในไทยจะอยู่ที่ประมาณ 60% ของตลาดมือถือทั้งหมด และอีก 40% จะเป็นโทรศัพท์ชนิดฟีเจอร์โฟน
นอกจากนี้ ปัจจัยหลักอีกประการที่ผลักดันการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในไทย คือกระแสความนิยมการใช้งานโซเชียล มีเดีย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าคนไทยใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3.1 ชั่วโมงต่อวัน กับการออนไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโดยเฉลี่ย 2.6 ชั่วโมงต่อวันเพื่อท่องโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเวลาที่มากกว่าเวลาที่ใช้กับสื่ออื่น ๆ เช่น การดูโทรทัศน์
นายธีระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณสมาร์ทโฟนจะเติบโตขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้สมาร์ทโฟนที่ทำตลาดได้ดีนั้นเป็นรุ่นที่มีราคาไม่สูง มูลค่าโดยรวมของการซื้อขายในตลาดอาจไม่เติบโตจากปีที่แล้วมากนัก แม้ว่าจำนวนเครื่องที่จำหน่ายจะมีจำนวนมากขึ้นก็ตาม.